ที่มา : สสปท.
Content
ขั้นตอนความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับการตัดเชื่อมโลหะ
- การขออนุญาตก่อนปฏิบัติงาน (Work permit) เนื่องจากงานเชื่อมถือเป็นงานที่เสี่ยงต่อการเกิดเหตุเพลิงไหม้ได้ (Hot work) การขออนุญาตทำงานมักจะเป็นข้อกำหนดในการเชื่อมบริเวณพื้นที่ทั่วไป สำหรับการผลิตไม่ได้แบ่งเป็นพื้นที่ซ่อมบำรุงสำหรับงานเชื่อม เช่น งานเชื่อมท่อ โครงสร้างอาคาร เป็นต้น
- การเตรียมพื้นที่ เตรียมอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับงานเชื่อม ก่อนที่จะทำการตัดเชื่อมด้วยไฟฟ้า หรือแก๊ส ผู้ปฏิบัติงานต้องทำการตรวจสอบบริเวณโดยรอบ ต้องไม่มีวัสดุที่ติดไฟได้อยู่
- การจัดเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็น และติดตั้งอย่างปลอดภัย ถังแก๊สควรวางในแนวตั้ง ให้ห่างจากบริเวณที่ทำการเชื่อม เพื่อป้องกันสะเก็ตไฟจากการเชื่อมกระเด็นไปถึง และยึดถังให้มั่น ป้องกันการล้ม และควรตรวจสอบอุปกรณ์ทุกชิ้นเพื่อป้องกันการรั่ว ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมจะใช้งานก่อนเริ่มทำงาน ในบริเวณที่มีการเชื่อตัด จะต้องจัดให้มีอุปกรณ์ดับเพลิงติดตั้งไว้ ใกล้บริเวณพื้นที่ทำงานให้เพียงพอ และสามารถหยิบใช้ได้สะดวกในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน
- ขณะปฏิบัติงานต้องสวมใส่อุปกณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลทีี่เหมาะสม สวมถุงมือหนัง หรือถุงมือกันความร้อน แว่นตา และหน้ากากเชื่อม ทุกครั้งที่ทำงาน อาจจะต้องมีผ้ากันเปื้อนหนัง สำหรับป้องกันส่วนหน้าอก ท้อง และต้นขา จากประกายไฟที่กระเด็นไปโดยรอบ และต้องมีผู้เฝ้าระวังประกายไฟในขณะที่งานเชื่อมกำลังดำเนินการ และให่เฝ้าระวังหลังจากงานเสร็จไปแล้ว 30 นาที
- การทำความสะอาดพื้นที่หลังงานเชื่อม จัดเก็บอุปกรณ์ให้เรีบยร้อย วางป้ายเตือนอันตรายความร้อนจากชิ้นงานที่เชื่อม ตรวจสอบบริเวณพื้นที่ทำงาน และจุดที่สะเก็ตไฟตก เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีการลุกติดไฟ
Law
กฎกระทรวง
กำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย
และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น และหม้อน้ำ
พ.ศ. ๒๕๕๒
———————–
ส่วนที่ ๓
เครื่องเชื่อมไฟฟ้าและเครื่องเชื่อมก๊าซ
———————–
ข้อ ๒๒ ก่อนใช้เครื่องเชื่อมไฟฟ้าและเครื่องเชื่อมก๊าซ นายจ้างต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
(๑) จัดให้มีเครื่องดับเพลิงแบบเคลื่อนย้ายได้ติดตั้งไว้ในบริเวณใกล้เคียงที่สามารถนำมาใช้ดับเพลิงได้ทันที
(๒) จัดให้มีอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลให้ลูกจ้างสวมใส่
(๓) จัดบริเวณที่ปฏิบัติงานมิให้มีวัสดุที่ติดไฟง่ายวางอยู่
(๔) จัดให้มีฉากกั้นหรืออุปกรณ์ป้องกันอันตรายอื่น ๆ ที่เหมาะสมเพื่อป้องกันอันตรายจากประกายไฟและแสงจ้า
ข้อ ๒๓ นายจ้างต้องควบคุมดูแลมิให้ลูกจ้างหรือผู้ซึ่งไม่เกี่ยวข้องเข้าไปในบริเวณที่มีการทำงานด้วยเครื่องเชื่อมไฟฟ้าหรือเครื่องเชื่อมก๊าซ
ข้อ ๒๔ นายจ้างต้องจัดให้มีมาตรการด้านความปลอดภัยและควบคุมดูแลให้ลูกจ้างปฏิบัติโดยเคร่งครัดเมื่อใช้เครื่องเชื่อมไฟฟ้าหรือเครื่องเชื่อมก๊าซในบริเวณที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายจากการระเบิด เพลิงไหม้ หรือไฟลามจากก๊าซ น้ำมัน หรือวัตถุไวไฟอื่น
ข้อ ๒๕ ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานเกี่ยวกับเครื่องเชื่อมไฟฟ้า นายจ้างต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
(๑) จัดให้มีการต่อสายดินกับโครงโลหะของเครื่องเชื่อมไฟฟ้าที่ต่อจากอุปกรณ์การเชื่อม ทั้งนี้ ขนาดของสายดินต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานของการไฟฟ้าในท้องถิ่นนั้น กรณีที่ไม่มีมาตรฐานดังกล่าวให้ปฏิบัติตามมาตรฐานของสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
(๒) จัดสถานที่ปฏิบัติงานให้มีแสงสว่างและการระบายอากาศอย่างเหมาะสม
(๓) จัดให้มีการใช้สายดิน สายเชื่อม หัวจับสายดิน และหัวจับลวดเชื่อม ตามขนาดและมาตรฐานที่ผู้ผลิตกำหนดไว้
(๔) จัดสายไฟฟ้าและสายดินให้ห่างจากการบดทับของยานพาหนะ น้ำ หรือที่ชื้นแฉะหากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ต้องจัดให้มีอุปกรณ์ป้องกันความเสียหายข้างต้น เว้นแต่งานที่ต้องปฏิบัติใต้น้ำ
ข้อ ๒๖ ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานเกี่ยวกับเครื่องเชื่อมก๊าซ นายจ้างต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
(๑) ติดตั้งและตรวจสอบอุปกรณ์ควบคุมความดันและมาตรวัดความดันที่เหมาะสมถูกต้องกับชนิดของก๊าซ
(๒) ตรวจสอบการรั่วไหล การหลุดหลวม การสึกหรอของอุปกรณ์ หรือสภาพที่ไม่ปลอดภัยทุกครั้ง หากพบว่าไม่ปลอดภัยต้องทำการแก้ไข
(๓) จัดทำเครื่องหมาย สี หรือสัญลักษณ์ที่ท่อส่งก๊าซ หัวเชื่อม หรือหัวตัด ให้เป็นแบบและชนิดเดียวกัน
ข้อ ๒๗ ในการต่อถังบรรจุก๊าซไวไฟหลายถังเข้าด้วยกัน นายจ้างต้องจัดให้มีอุปกรณ์กันเปลวไฟย้อนกลับ ติดไว้ระหว่างหัวต่อกับอุปกรณ์ควบคุมการลดกำลังดัน
ข้อ ๒๘ นายจ้างต้องจัดสถานที่เก็บก๊าซไวไฟให้อยู่ในพื้นที่ที่มีการระบายอากาศดี ไม่มีความสั่นสะเทือน และปลอดภัยจากการติดไฟหรือห่างจากแหล่งก่อให้เกิดความร้อนหรือประกายไฟ
ข้อ ๒๙ นายจ้างต้องติดตั้งกลอุปกรณ์นิรภัยแบบระบายไว้ที่ถังบรรจุก๊าซทุกถังและดูแลให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้อย่างปลอดภัย
ข้อ ๓๐ นายจ้างต้องดูแลถังบรรจุก๊าซทุกชนิดให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัยตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กรณีที่ไม่มีมาตรฐานดังกล่าวให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด