ที่มา : สสปท.

Content

รายงานประจำปี 2557 ของสำนักงานกองทุนเงินทดแทน พบว่ามี 

ผู้ประสบอันตรายจากการยกหรือเคลื่อนย้ายของหนัก มีจำนวนมากถึง 845 ราย จากจำนวนลูกจ้างที่ลงทะเบียนอยู่ในกองทุนเงินทดแทน 9,132,756 ราย หรือประมาณว่า มีอัตราผู้ประสบอันตรายจากการยกหรือเคลื่อนย้ายของหนักอยู่ที่ 9.3 คน ต่อแรงงาน 100,000 คน

การบาดเจ็บของระบบกล้ามเนื้อและกระดูกจากการทำงานเคลื่อนย้ายวัสดุ พบว่า มีสาเหตุมาจากปัจจัยเสี่ยงหลายประการ ได้แก่

  • การใช้แรงจากร่างกายเกินกำลังในการเคลื่อนย้ายวัสดุที่มีน้ำหนักมาก
  • รวมทั้งการใช้ท่าทางในการเคลื่อนย้ายที่ไม่เหมาะสม และการทำงานด้วยท่าทางซ้ำๆ ต่อเนื่องเป็นเวลานาน

การที่จะลดการบาดเจ็บจากการเคลื่อนย้ายวัสดุ จำเป็นต้องลดหรือกำจัดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น

การดำเนินงานด้านการยศาสตร์เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน

  • ประเมินความเสี่่ยง
  • ออกแบบสถานีงาน
  • การอบรมท่าทางการยกเคลื่อนย้ายวัสดุสิ่งของ

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการยกเคลื่อนย้ายของหนัก คือ

กฎกระทรวง กำหนดอัตราน้ำหนักที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานได้ พ.ศ.2547

ได้กำหนดให้ลูกจ้างทำงานยก แบก หาม ทูน ลาก หรือเข็นของหนัก ไม่เกินอัตราน้ำหนักต่อลูกจ้างหนึ่งคน ดังต่อไปนี้

  1. เด็กหญิง (ตั้งแต่ 15 ปี แต่ยังไม่ถึง 18 ปี) ไม่เกิน 20 กิโลกรัม
  2. เด็กชาย (ตั้งแต่ 15 ปี แต่ยังไม่เกิน 18 ปี) ไม่เกิน 25 กิโลกรัม
  3. ลูกจ้างหญิง ไม่เกิน 25 กิโลกรัม
  4. ลูกจ้างชาย ไม่เกิน 55 กิโลกรัม

Infographic

ที่มา : กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

E-Book & E-learning

ที่มา : สสปท.

ที่มา : สสปท.

ที่มา : สสปท.

ที่มา : กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

Laws

กฎกระทรวง

กำหนดอัตราน้ำหนักที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานได้

พ.ศ. ๒๕๔๗

                       

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๖ และมาตรา ๓๗ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๕ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑  ให้นายจ้างใช้ลูกจ้างทำงานยก แบก หาม หาบ ทูน ลาก หรือเข็นของหนักไม่เกินอัตราน้ำหนักโดยเฉลี่ยต่อลูกจ้างหนึ่งคน ดังต่อไปนี้

(๑) ยี่สิบกิโลกรัมสำหรับลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กหญิงอายุตั้งแต่สิบห้าปีแต่ยังไม่ถึงสิบแปดปี

(๒) ยี่สิบห้ากิโลกรัมสำหรับลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กชายอายุตั้งแต่สิบห้าปีแต่ยังไม่ถึงสิบแปดปี

(๓) ยี่สิบห้ากิโลกรัมสำหรับลูกจ้างซึ่งเป็นหญิง

(๔) ห้าสิบห้ากิโลกรัมสำหรับลูกจ้างซึ่งเป็นชาย

ในกรณีของหนักเกินอัตราน้ำหนักที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง ให้นายจ้างจัดให้มีและให้ลูกจ้างใช้เครื่องทุนแรงที่เหมาะสม และไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้าง

ข้อ ๒[๑]  กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๗

อุไรวรรณ  เทียนทอง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๓๗ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ได้บัญญัติห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงาน ยก แบก หาม หาบ ทูน ลาก หรือเข็นของหนักเกินอัตราน้ำหนักตามที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *