วันความปลอดภัยและอาชีวอนามัยสากล ประจำปี ๒๕๖๓

การเตรียมความพร้อมและการรับมือกับโรคระบาดใหญ่
ด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงาน

วันความปลอดภัยและอาชีวอนามัยสากล ในปีนี้องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้มีการเปลี่ยนหัวข้อจากเรื่องความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกของการทำงาน เป็นการแสดงมุมมองเกี่ยวกับวิกฤติการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลก ซึ่งประเด็นหลักจะเป็นเรื่องการจัดการโรคระบาดในสถานที่ทำงาน วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการหารือด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงานระดับชาติร่วมกัน ซึ่งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ใช้ วันความปลอดภัยและอาชีวอนามัยสากล เพื่อยกระดับบทบาทการให้บริการด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย (OSH) ในสถานที่ทำงานให้เป็นที่ยอมรับ นอกจากนี้ยังเน้นไปที่มาตรการระยะกลางและมาตรการระยะยาว รวมถึงการฟื้นฟูและการเตรียมความพร้อมในอนาคต โดยเฉพาะการบูรณาการระบบการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย (OSH management systems) เข้ากับนโยบายขององค์กรแต่ละประเทศ

นายกาย ไรเดอร์ (Mr. Guy Ryder) ผู้อำนวยการองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) กล่าวว่า “เราต้องการมาตรการเฉพาะเพื่อปกป้องสุขภาพลูกจ้างนับล้านคน และลูกจ้างที่เสี่ยงต่อการสัมผัสอันตรายด้านสุขภาพซึ่งการทำงานทางไกล (Telework) นับว่าเป็นทางเลือกใหม่ของการทำงาน อย่างไรก็ตาม ลูกจ้างสามารถเจรจาต่อรองข้อเสนอนี้ เพื่อให้พวกเขาสามารถปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ควบคู่กันไปได้ เช่น การดูแลเด็ก การดูแลผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุ รวมถึงการดูแลตัวเอง” ในช่วงวิกฤตเช่นนี้นายจ้างมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยและอนามัยในการทำงานของลูกจ้าง ส่วนลูกจ้างก็มีหน้าที่ให้ความร่วมมือกับนายจ้างและปฏิบัติตามมาตรการการทำงานที่กำหนดอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ต้องอาศัยความพยายามของทุกฝ่ายร่วมมือกัน

กองความปลอดภัยแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จึงขอความร่วมมือทุกภาคส่วนประชาสัมพันธ์เชิงสัญลักษณ์เพื่อเป็นการรณรงค์ ส่งเสริมแนวคิดในการสร้างมาตรการเชิงป้องกันด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ช่วยหยุดยั้งการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ไปด้วยกัน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *