ที่มา : สสปท.

มาตรฐานการจัดการความปลอดภัยในการทำงานบนที่สูง

  1. การทำงานบนพื้นที่ที่มีความต่างระดับต่ำกว่า 2 เมตร
    • อุบัติเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากการใช้บันไดเพียงลำพัง เมื่ออยู่ขั้นสูงสุดของบันไดจะไม่มีความมั่นคงขณะทำงาน และเสี่ยงต่อการพลัดตก เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น ควรเลือกใช้บรรไดที่มีพื้นยืนพร้อมราวจับ เป็นทางเลือกที่ดีกว่าการใช้บันไดพับแบบปกติ
  2. การทำงานบนพื้นที่ที่มีความต่างระดับ ตั้งแต่ 2 เมตรขึ้นไป
    • การทำงานบนพื้น แทนการทำงานบนที่สูง
    • เมื่อทำงานบนที่สูง ผู้ปฏิบัติงานควรใส่สายชีวิตขณะปฏิบัติงานจลอดเวลา และติดตั้งราวกันตกเพื่อป้องกันการพลัดตกจากที่สูง
    • จัดทำทางขึ้น-ลงที่สูงให้ปลอดภัย เช่น การทำบรรไดชั่วคราวแทนการปีนขึ้นเป็นต้น
    • การใช้อุปกรณ์นั่งร้านทำงานบนที่สูง ให้มีความปลอดภัย ควรเลือกชนิดที่เหมาะสมต่อการทำงาน ซึ่งมีหลายประเภท ดังนี้
      • นั่งร้าน รับน้ำหนักไม่เกิน 225 กก. เหมาะสมสำหรับ งานฉาบปูน งานทาสี งานด้านไฟฟ้า
      • นั่่งร้าน ที่รับน้ำหนักได้ไม่เกิน 450 กก. เหมาะสำหรับ การทำงานทั่วไป
      • นั่งร้าน รับน้ำหนักได้ไม่เกิน 675 กก. เหมาะสำหรับงานก่ออิฐ งานคอนกรีต งานรื้อถอน ซึ่งการสร้าง ดัดแปลง หรือรื้ออุปกรณ์นั่งร้าน ควรดำเนินการโดยผู้ที่มีความรู้ และปฏิบัติที่กฎหมายกำหนด
    • รถกระเช้า ควรใช้บนพื้นที่มีความมั่นคงแข็งแรง ขณะปฎิบัติงานควรมีผู้ควบคุมที่ผ่านการฝึกอบรมจากหน่วยงานที่ได้รับการรับรองอยู่ด้วย และควรตรวจสอบ/ทดลองอุปกรณ์การทำงานของรถกระเช้าอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อความปลอดภัย
    • ติดตั้งราวกันตก บริเวณพื้นที่ที่มีความเสี่ยงตกจากที่สูง เช่น ขอบอาคาร หลังคา ทางราดชัน พื้นที่เป็นหลุม และจุดที่เสี่ยงต่อการพลัดตก โดยการติดตั้งราวกันตก
    • เลือกใช้บันไดที่ถูกต้อง เหมาะสมตามลักษณะงาน ติดตั้งบนพื้นที่แข็งแรง มั่นคง และป้องกันไม่ให้เกิดการลื่นไถล 
    • ระบบควบคุมตำแหน่งการทำงาน กำหนดจุดยึดเหนี่ยว และอุปกรณ์ช่วยยึดรั้งผู้ปฏิบัติงาน ให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องปลอดภัย ซึ่งอย่างน้อยควรมีอุปกรณ์ที่ประกอบด้วย จุดยึดเหนี่ยว สายรัดตัวนิรภัยชนิดเต็มตัว เชือกนิรภัยหรือเชือกช่วยชีวิต ทั้งนี้ควรมีการคำนวณระยะการตกของผู้ปฏิบัติงานในกรณีการใช้เชือกนิรภัย และอุปกรณ์ดูดซับแรงเพื่อค้นหาระยะปลอดภัยแก่ผู้ปฏิบัติงาน

การควบคุมบริหารจัดการ

  1. กำหนดนโยบายการทำงานที่ถูกต้องปลอดภัย สื่อสารให้ทุกฝ่ายรับทราบและปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัด
  2. ก่อนเริ่มปฏิบัติงาน ควรมีการวางแผนการทำงานอย่างรอบครอบ และตรวจสอบอุปกรณ์ให้มีความพร้อมใช้งาน ตามระเบียบข้อบังคับ เพื่อความปลอดภัย 
  3. ผู้ปฏิบัติงานต้องได้รับการฝึกอบรมการทำงานบนที่สูงอย่างถูกต้อง เพื่อเสริมสร้างทักษะการปฏิบัติงานในด้านต่างๆ จนเกิดวัฒนธรรมความปลอดภัย 
  4. การขออนุญาตทำงานบนที่สูง โดยมีรายละเอียดเป็นไปตามกฎระเบียบของกระทรวง
  5. แผนการช่วยเหลือ กรณีตกจากที่สูง เพื่อเสริมสร้างทักษะแก่ผู้ปฏิบัติงานให้สามารถรับมือและแก้ไขได้ทันท่วงที
  6. การป้องกันและยับยั้งอุปกรณ์ตกหล่น

E-Book

ที่มา : สสปท.

Law

กฎกระทรวง

กำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย

และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้าง

พ.ศ. ๒๕๕๑

                               

หมวด ๑๑

การทำงานในสถานที่ที่มีอันตรายจากการตกจากที่สูง

การพังทลาย และการกระเด็นหรือตกหล่นของวัสดุ

                               

 

ส่วนที่ ๑

การป้องกันการตกจากที่สูง

                               

 

ข้อ ๘๙  ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในที่สูงจากพื้นดินหรือพื้นอาคารตั้งแต่ ๒ เมตร ขึ้นไป ให้นายจ้างจัดให้มีนั่งร้าน บันได ขาหยั่ง หรือม้ายืน ที่ปลอดภัยตามสภาพของงานสำหรับลูกจ้างในการทำงานนั้น

 

ข้อ ๙๐  ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานบนที่ลาดชันที่ทำมุมเกินสามสิบองศาจากแนวราบและสูงตั้งแต่ ๒ เมตร ขึ้นไป นายจ้างต้องจัดให้มีนั่งร้านที่เหมาะสมกับสภาพของงานสายหรือเชือกช่วยชีวิต และเข็มขัดนิรภัยพร้อมอุปกรณ์ หรือเครื่องป้องกันอื่นใดที่มีลักษณะเดียวกันให้ลูกจ้างใช้ในการทำงานเพื่อให้เกิดความปลอดภัย

 

ข้อ ๙๑  ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในสถานที่ที่ลูกจ้างอาจได้รับอันตรายจากการพลัดตกหรือถูกวัสดุพังทับ เช่น การทำงานบนหรือในเสา ตอม่อ เสาไฟฟ้า ปล่อง หรือคานที่มีความสูงตั้งแต่ ๔ เมตร ขึ้นไป หรือทำงานบนหรือในถัง บ่อ กรวยสำหรับเทวัสดุ หรือสิ่งอื่นใดที่มีลักษณะเดียวกัน นายจ้างต้องจัดทำราวกั้นหรือรั้วกันตก ตาข่าย สิ่งปิดกั้น หรืออุปกรณ์ป้องกันอื่นใดที่มีลักษณะเดียวกัน เพื่อป้องกันการพลัดตกของลูกจ้างหรือสิ่งของ และจัดให้มีการใช้สายหรือเชือกช่วยชีวิตและเข็มขัดนิรภัยพร้อมอุปกรณ์ หรือเครื่องป้องกันอื่นใดที่มีลักษณะเดียวกัน ให้ลูกจ้างใช้ในการทำงานเพื่อให้เกิดความปลอดภัย

 

ข้อ ๙๒  งานก่อสร้างที่มีปล่องหรือช่องเปิดซึ่งอาจทำให้ลูกจ้างหรือสิ่งของพลัดตก นายจ้างต้องจัดทำฝาปิดที่แข็งแรง ราวกั้นหรือรั้วกันตกที่มีความสูงไม่น้อยกว่า ๙๐ เซนติเมตร และแผงทึบหรือขอบกันของตกมีความสูงไม่น้อยกว่า ๗ เซนติเมตร พร้อมทั้งติดป้ายเตือนอันตราย

 

ข้อ ๙๓  ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในชั้นของอาคารหรือสิ่งก่อสร้างที่เปิดโล่งและอาจพลัดตกลงมาได้ นายจ้างต้องจัดทำราวกั้นหรือรั้วกันตกตามมาตรฐานของสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรืออุปกรณ์ป้องกันอื่นใดที่มีลักษณะเดียวกัน

 

ส่วนที่ ๒

การใช้นั่งร้าน บันได ขาหยั่ง และม้ายืน

                               

 

ข้อ ๙๔  การใช้นั่งร้าน นายจ้างต้องกำกับดูแลมิให้ลูกจ้าง

(๑) ทำงานบนนั่งร้านเมื่อพื้นนั่งร้านลื่น

(๒) ทำงานบนนั่งร้านที่มีส่วนใดชำรุดอันอาจเป็นอันตราย

(๓) ทำงานบนนั่งร้านแขวนหรือนั่งร้านแบบกระเช้าขณะฝนตกหรือลมแรงอันอาจเป็นอันตราย และในกรณีที่มีเหตุการณ์ดังกล่าวให้รีบนำนั่งร้านดังกล่าวลงสู่พื้นดิน

ในกรณีที่มีการทำงานบนนั่งร้านหลายชั้นพร้อมกัน ให้นายจ้างจัดให้มีสิ่งป้องกันมิให้เกิดอันตรายต่อผู้ที่ทำงานอยู่ชั้นล่าง

 

ข้อ ๙๕  ให้นายจ้างสร้าง ประกอบ ติดตั้ง และตรวจสอบนั่งร้าน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด

 

ข้อ ๙๖  ในกรณีที่ลูกจ้างต้องใช้บันไดไต่ในงานก่อสร้าง นายจ้างต้องจัดหาบันไดที่มีโครงสร้างที่แข็งแรงทนทานและมีความปลอดภัยในการใช้งานตามมาตรฐานของสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

 

ข้อ ๙๗  ในกรณีที่ลูกจ้างต้องใช้ขาหยั่งหรือม้ายืนในการทำงาน นายจ้างต้องจัดให้มีการดูแลขาหยั่งหรือม้ายืนนั้นให้มีโครงสร้างที่แข็งแรงปลอดภัย และมีพื้นที่สำหรับยืนทำงานอย่างเพียงพอ

 

ส่วนที่ ๓

การป้องกันอันตรายจากการพังทลาย และการกระเด็นหรือตกหล่นของวัสดุ

                               

 

ข้อ ๙๘  ในกรณีที่ลูกจ้างทำงานในบริเวณที่อาจมีการพังทลาย หรือการกระเด็นหรือตกหล่นของหิน ดิน ทราย หรือวัสดุต่าง ๆ นายจ้างต้องจัดทำไหล่หิน ดิน ทราย หรือวัสดุนั้นให้ลาดเอียงเป็นมุมหรือวิธีการอื่นที่ป้องกันการพังทลาย

 

ข้อ ๙๙  ในกรณีที่ให้ลูกจ้างทำงานในท่อ ช่อง โพรง อุโมงค์ หรือบ่อที่อาจมีการพังทลายนายจ้างต้องจัดทำผนังกั้น ค้ำยัน หรือใช้วิธีการอื่นใดที่สามารถป้องกันอันตรายนั้นได้

 

ข้อ ๑๐๐  ให้นายจ้างป้องกันการกระเด็นหรือตกหล่นของวัสดุโดยใช้ผ้าใบ ตาข่าย หรือวัสดุอื่นใดที่มีลักษณะเดียวกันปิดกั้นหรือรองรับ

ในกรณีที่มีการลำเลียงวัสดุขึ้นหรือลงจากที่สูง หรือจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ให้นายจ้างจัดทำราง ปล่อง หรือใช้เครื่องมือและวิธีการลำเลียงที่เหมาะสมและปลอดภัย

ในกรณีที่ต้องใช้สายพาน เชือก หรือลวดสลิงในการลำเลียงวัสดุ ให้นายจ้างจัดทำโครงสร้างและที่สำหรับเกาะเกี่ยวให้มั่นคงแข็งแรงและปลอดภัย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *