บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย
ผูัรับผิดชอบ :
วัตถุอันตรายมีหน่วยงานที่รับผิดชอบ ๖ หน่วยงาน โดยแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงาน ตามวัตถุประสงค์ของการนำวัตถุอันตรายไปใช้ดังนี้
๑. กรมโรงงานอุตสาหกรรม รับผิดชอบวัตถุอันตรายที่นำไปใช้ในทางอุตสาหกรรม
๒. กรมวิชาการเกษตร รับผิดชอบวัตถุอันตรายที่นำไปใช้ทางการเกษตร
๓. กรมประมง รับผิดชอบวัตถุอันตรายที่นำไปใช้ทางการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
๔. กรมปศุสัตว์ รับผิดชอบวัตถุอันตรายที่นำไปใช้ทางปศุสัตว์
๕. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา รับผิดชอบวัตถุอันตรายที่นำไปใช้ในบ้านเรือน หรือ ทางสาธารณสุข
๖. กรมธุรกิจพลังงาน รับผิดชอบวัตถุอันตรายที่เป็นก๊าซปิโตรเลียม
กฏหมายที่เกี่ยวข้อง : ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๕๖ (ประกาศในราชกิจจาฯ วันที่ 27 กย.2556)
รายการวัตถุอันตรายของกระทรวงอุตสาหกรรมนั้นยังแบ่งเป็น 4 ชนิดตามพรบ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ซึ่งผู้ประกอบการทั้งผู้ผลิต หรือ ผู้นำเข้า หรือผู้ส่งออก หรือผู้มีไว้ในครอบครอง ต้องดำเนินการให้สอดคล้องตามกฎหมาย ดังรายละเอียดต่อไปนี้
- ในกรณีที่เป็นโรงงาน ให้ตรวจสอบรายชื่อวัตถุอันตราย ตามบัญชี ๕ ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมรับผิดชอบ โดยตรวจสอบจาก CAS number และชนิดของวัตถุอันตราย
- พิจารณาว่าเป็นวัตถุอันตรายชนิดใด และให้ดำเนินการตามชนิดของวัตถุอันตราย ดังต่อไปนี้
วัตถุอันตรายชนิดที่ 1 เป็นวัตถุอันตรายที่ก่อให้เกิดผลกระทบน้อยกว่ากลุ่มอื่น
- ไม่ต้องขออนุญาต เพียงแต่ต้องยื่นแจ้งตามแบบฟอร์ม วอ./อก.6 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อนไปดำเนินการตามพิธีการศุลกากร
- จะต้องยื่นแจ้ง ตาม วอ./อก.7 (http://www2.diw.go.th/haz/vook7/login.asp) ในกรณีที่อยู่ในบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายแนบท้ายประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การให้แจ้งข้อเท็จจริง ของผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้มีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตราย ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ พ.ศ. ๒๕๔๗
วัตถุอันตรายชนิดที่ 2 เป็นวัตถุอันตรายที่มีความเป็นอันตรายหรือความเสี่ยงสูงกว่าชนิดที่ 1
- จะต้องขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย
- จะต้องแจ้งตามแบบฟอร์มใบแจ้งการดำเนินการเกี่ยวกับวัตถุอันตราย ชนิดที่ 2(หลังจากที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว)
- ยื่นแจ้ง วอ./อก.6 ก่อนไปดำเนินการตามพิธีการศุลกากร
- จะต้องมีสถานที่เก็บรักษาวัตถุอันตรายเป็นไปตาม พรบ.วัตถุอันตรายและประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม
- จะต้องยื่นแจ้ง ตาม วอ./อก.7 (http://www2.diw.go.th/haz/vook7/login.asp) ในกรณีที่อยู่ในบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายแนบท้ายประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การให้แจ้งข้อเท็จจริง ของผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้มีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตราย ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ พ.ศ. ๒๕๔๗
วัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นวัตถุอันตรายที่มีความเป็นอันตรายหรือความเสี่ยง สูงกว่า วัตถุอันตรายสองชนิดแรก
- จะต้องขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย
- จะต้องมีใบอนุญาต และได้รับการอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่เสียก่อนจึงจะนำเข้าได้
- จะต้องมีสถานที่เก็บรักษาวัตถุอันตรายเป็นไปตาม พรบ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535
- ยื่นแจ้ง วอ./อก.6 ก่อนไปดำเนินการตามพิธีการศุลกากร
- จะต้องยื่นแจ้ง ตาม วอ./อก.7 (http://www2.diw.go.th/haz/vook7/login.asp) ในกรณีที่อยู่ในบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายแนบท้ายประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การให้แจ้งข้อเท็จจริง ของผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้มีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตราย ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ พ.ศ. ๒๕๔๗
- ใบอนุญาตมีอายุ 1 ปี และ 3 ปี และมีเงื่อนไขกำกับการอนุญาตในบางรายการ
วัตถุอันตรายชนิดที่ 4 วัตถุอันตรายที่มีความเป็นอันตรายหรือความเสี่ยงสูงทั้งจากคุณสมบัติของตัวสารเองหรือจากลักษณะการใช้ เช่น สารก่อมะเร็ง สารก่อกลายพันธุ์ สารที่เป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ หรือสารที่ห้ามใช้โดยอนุสัญญา กฎหมายจึงห้ามมิให้ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง
รายละเอียดเกี่ยวกับการขออนุญาต
2.การขออนุญาตนำเข้าวัตถุอันตราย
3.การขออนุญาตส่งออกวัตถุอันตราย
5.การขออนุญาตมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตราย
6.การออกใบรับแจ้งการดำเนินการเกี่ยวกับวัตถุอันตรายชนิดที่ 2
บัญชีรายชื่อสารเคมีอันตราย
ผู้รับผิดชอบ : สารเคมีอันตราย จะอยู่ในส่วนของกระทรวงแรงงาน ซึ่งสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเป็นผู้รับผิดชอบ
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง : กฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย พ.ศ. 2556
ข้อ 2 “ให้นายจ้างที่มีสารเคมีอันตรายอยู่ในครอบครองจัดทำบัญชีรายชื่อสารเคมีอันตรายและรายละเอียดข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมีอันตรายตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด พร้อมทั้งแจ้งต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่มีสารเคมีอันตรายอยู่ในครอบครองภายในเดือนมกราคมของทุกปี ให้นายจ้างแจ้งบัญชีรายชื่อสารเคมีอันตราย และรายละเอียดข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมีอันตรายที่ตนมีอยู่ในครอบครองต่ออธิบดี หรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายด้วย”
ข้อ 2 ให้นายจ้างที่มีสารเคมีอันตรายอยู่ในครอบครองจัดทำบัญชีรายชื่อสารเคมีอันตราย และรายละเอียดข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมีอันตราย (หรือที่เราเรียกว่า แบบ สอ.1 นั่นเอง) ซึ่ง สอ.1 และบัญชีรายชื่อสารเคมีอันตรายฯ ก็มีกฎหมายลูกออกมาอีก คือ ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง บัญชีรายชื่อสารเคมีอันตราย (ประกาศในราชกิจจาฯ วันที่ 20 ธค.2556) มีทั้งหมด 1516 รายการ แต่ที่น่าสนใจคือ รายการที่ 1516 ที่กล่าวไว้ว่า สารอื่นที่มีสารเคมีอันตรายข้างต้นเป็นองค์ประกอบ (ก็คือ รายการที่ 1-1515 เป็นองค์ประกอบนั่นแหละ แปลว่าก็ต้องแจ้ง สอ.1 เช่นกัน)