พระราชบัญญัติ
ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
พ.ศ. 2554
- วันที่ลงนาม:12 มกราคม พ.ศ. 2554
- สถานภาพการบังคับใช้ของกฎหมาย:บังคับใช้แล้ว
- โรงงานที่ต้องปฏิบัติตาม :1) โรงงานอุตสาหกรรมกลุ่มที่ 1-21
- สาระสำคัญของกฎหมาย:
4.1) พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นี้ให้ความหมายคำว่า “ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน” “นายจ้าง” “ลูกจ้าง” “ผู้บริหาร” “หัวหน้างาน” “เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน” “สถานประกอบกิจการ” “คณะกรรมการ” “กองทุน” “พนักงานตรวจความปลอดภัย” “อธิบดี” และ“รัฐมนตรี”
4.2) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานรักษาการ และมีอำนาจหน้าที่ ตามที่ระบุในพระราชบัญญัตินี้
4.3) ให้นายจ้างมีหน้าที่จัดและดูแลสถานประกอบกิจการและลูกจ้างให้มีสภาพการทำงานและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะ ส่วนลูกจ้างมีหน้าที่ให้ความร่วมมือกับนายจ้าง
4.4) หากพระราชบัญญัตินี้กำหนดให้นายจ้างต้องดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดที่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ให้นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายนั้น
4.5) การบริหาร การจัดการ และการดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน
– ให้นายจ้างบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดในกฎกระทรวง และพระราชบัญญัตินี้
– บุคคลใดที่ต้องการให้บริการในการตรวจวัด ตรวจสอบ ทดสอบ รับรองประเมินความเสี่ยง รวมทั้งจัดฝึกอบรมหรือให้คำปรึกษาเพื่อส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานต้องขึ้นทะเบียนต่อสำนักความปลอดภัยแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และปฏิบัติตามที่ระบุในพระราชบัญญัตินี้
– นายจ้างและลูกจ้างให้ปฏิบัติตามหน้าที่ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้
– ให้นายจ้างมีอำนาจดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับอาคารสถานที่ เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์หรือสิ่งอื่นใดที่เช่านั้นตามมาตรฐานที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้
– ให้ผู้บริหารหรือหัวหน้างานมีหน้าที่สนับสนุนและร่วมมือกับนายจ้างและบุคลากรอื่นเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามที่ระบุในพระราชบัญญัตินี้
– ให้ลูกจ้างมีหน้าที่ดูแลสภาพแวดล้อมในการทำงานตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้
– ให้นายจ้างจัดและดูแลให้ลูกจ้างสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลที่ได้มาตรฐานตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ส่วนลูกจ้างมีหน้าที่สวมใส่อุปกรณ์ หากไม่ลูกจ้างไม่สวมใส่ให้นายจ้างสั่งหยุดการทำงานนั้นจนกว่าลูกจ้างจะสวมใส่
– ให้ผู้รับเหมาชั้นต้นและผู้รับเหมาช่วงตลอดสายตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานมีหน้าที่ดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของลูกจ้างเช่นเดียวกับนายจ้าง
4.6) คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
– พระราชบัญญัตินี้ได้กำหนดผู้ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และ
สภาพแวดล้อมในการทำงาน อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ เกณฑ์การแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิและวาระการดำรงตำแหน่ง จำนวนองค์ประชุม และอื่นๆ
4.7) การควบคุม กำกับ ดูแล
– ให้นายจ้างดำเนินการตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ ในการดูแลการดำเนินการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
– ผู้ใดจะทำการเป็นผู้ชำนาญการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อม ในการทำงานจะต้องได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีตามพระราชบัญญัตินี้
– ในกรณีที่สถานประกอบกิจการใดเกิดอุบัติภัยร้ายแรง หรือลูกจ้างประสบอันตรายจากการทำงาน ให้นายจ้างดำเนินการตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้
4.8) พนักงานตรวจความปลอดภัย
– ให้พนักงานตรวจความปลอดภัยมีอำนาจ หน้าที่ ตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้
– ในกรณีที่นายจ้างไม่ปฏิบัติตามคำ สั่งของพนักงานตรวจความปลอดภัย ทำให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรงที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานสมควรเข้าไปดำเนินการแทน ให้นายจ้างต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายสำหรับการเข้าจัดการแก้ไขนั้นตามจำนวนที่จ่ายจริง หากนายจ้างไม่จ่ายให้ให้อธิบดีมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของนายจ้างตามจำนวนที่จ่ายจริง และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้
– ระหว่างหยุดการทำงานหรือหยุดกระบวนการผลิตตามคำสั่งพนักงานตรวจความปลอดภัย ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างเท่ากับค่าจ้างหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดที่ลูกจ้างต้องได้รับยก เว้นแต่ลูกจ้างรายนั้นจงใจกระทำให้มีการหยุดการทำงานหรือหยุดกระบวนการผลิต
– ในกรณีที่พนักงานตรวจความปลอดภัยมีคำสั่ง ใดคำสั่งหนึ่ง หากนายจ้าง ลูกจ้าง หรือผู้ที่เกี่ยวข้องไม่เห็นด้วยมีสิทธิยื่นอุทธรณ์เป็นหนังสือต่ออธิบดีตามเกณฑ์ที่ระบุในพระราชบัญญัตินี้
– ห้ามนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง หรือโยกย้ายหน้าที่การงานของลูกจ้างเพราะเหตุที่ลูกจ้างดำเนินการฟ้องร้องหรือเป็นพยานหรือให้หลักฐานหรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานต่อพนักงานตรวจความปลอดภัย หรือคณะกรรมการ ตามพระราชบัญญัตินี้ หรือต่อศาล
4.9) กองทุนความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
– กองทุนความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เป็นทุนใช้จ่ายในการดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานตามพระราชบัญญัตินี้ ประกอบด้วย กองทุนต่างๆตามที่ระบุในพระราชบัญญัตินี้
– เงินกองทุนให้ใช้จ่ายเพื่อกิจการตามที่ระบุในพระราชบัญญัตินี้
– พระราชบัญญัตินี้ได้กำหนดผู้ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการบริหารกองทุนความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ เกณฑ์การแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิและวาระการดำรงตำแหน่ง จำนวนองค์ประชุม และอื่นๆ
4.10) สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
– ให้มีสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน และมีอำนาจ หน้าที่ ตามที่ระบุในพระราชบัญญัตินี้
4.11) บทกำหนดโทษ
– ผู้ใดไม่ปฏิบัติตาม หรือฝ่าฝืนตามมาตราใดมาตราหนึ่งหรือมากกว่าให้ได้รับระวางโทษตามที่ระบุในพระราชบัญญัตินี้